เสื้อยืดแขนสั้นหรือทีเชิ้ตที่เราเริ่มรู้จักกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้กลายเป็นแฟชั่นยอดนิยมไปทั่วเสียแล้ว เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็ขายทีเชิ้ตได้กว่าพันล้านตัวในปี ค.ศ. ๑๙๙๐
ที่จริงเสื้อทีเชิ้ตเริ่มจากชุดชั้นในซึ่งใช้ใส่ทำงานกลางแจ้งจุดกำเนิดไม่ชัดเจน แต่ค่อนข้างแน่ว่ามาจากกะลาสีเรือ มีเรื่องเล่าว่า สมัยหนึ่งกะลาสีเรืออังกฤษได้รับคำสั่งให้เย็บเสื้อแขนสั้น ๆ ติดไว้กับเสื้อกล้าม พระราชวงศ์จะได้ไม่เห็นขนรักแร้อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า คนขนถ่ายใบชาที่ท่าเรือแอนนาโปลิส ในแมรีแลนด์ ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ใส่เสื้อยืดแขนสั้นทำงาน คำว่า Tea ซึ่งแปลว่า ชา จึงกลายมาเป็นตัว “T” สำหรับคำว่าทีเชิ้ต ที่แน่ ๆ ก็คือ ในปี ค.ศ. ๑๙๑๓ กองทัพเรือสหรัฐฯ ให้ทหารเรือใส่เสื้อผ้าฝ้ายสีขาวแขนสั้นคอกลมไว้ใต้เสื้อจัมเพอร์อันเป็นเสื้อสวมศีรษะคลุมถึงสะโพก ส่วนหนึ่งก็คงเพราะต้องการจะปิดขนหน้าอกอันน่าเกลียด
เสื้อทีเชิ้ตมีประโยชน์มากสำหรับชายหญิงเป็นล้าน ๆ คน ที่รับราชการทหารในทุกแห่งหน โดยเฉพาะในเขตร้อน มันดูเรียบร้อย ซักก็ง่าย เอาไว้ขัดหัวเข็มขัดก็ได้ ขัดรองเท้าก็ดี หรือถ้าจำเป็นก็เอามาม้วนทำหมอนหนุนหรือใช้เป็นผ้าพันแผล จะว่าไปแล้วเสื้อทีเชิ้ตก็คือเสื้อในของสมัยหลังสงคราม ยิ่งถ้าเป็นแถบอากาศอบอุ่นแล้ว จะใส่ทีเชิ้ตอย่างเดียว ไม่มีเสื้อทับ มันเป็นเครื่องแต่งกายที่บ่งบอกถึงความมีสิทธิเท่าเทียมกัน ผู้ชายอาชีพใด ๆ ก็ใส่ได้ทั้งนั้น ทหารเก่า (รวมทั้งลูกชายของพวกเขา)จะรู้สึกเหมือนแก้ผ้าเลยทีเดียว ถ้าไม่ได้ใส่ทีเชิ้ต
ส่วนใหญ่เราจะเห็นคนงานชอบสวมทีเชิ้ต เพราะต้องการความสบายในการสวมใส่ เนื่องจากทีเชิ้ตเข้ามาแทนที่เสื้อกล้ามแบบโชว์รักแร้ เลยกลายเป็นสัญลักษณ์ชนชั้นกรรมาชีพมาลอน แบรนโด ช่วยตอกย้ำสถานภาพนี้ในหนังที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๕๑ เรื่อง “A Street Car Named Desire” ซึ่งแบรนโดเล่นเป็นชายชาตรีที่ดุดันหยาบกระด้าง กล้ามเนื้อเป็นมัดของเขามองเห็นได้ชัดใต้เสื้อทีเชิ้ตรัดรูป แบรนโดอีกเช่นกันที่ทำให้ทีเชิ้ตเป็นเสมือนธงรบของวัยรุ่นที่กบฏต่อพ่อแม่ ซึ่งภาพพจน์นี้ยืนยาวที่สุด
ช่วงปลายทศวรรษที่ ๖๐ เสื้อทีเชิ้ตถูกนำมาย้อมสี โดยเอาเชือกมัดก่อนย้อมให้เป็นลวดลาย หรือระบายสี หรือพิมพ์ซิลค์สกรีนเป็นรูปเครื่องหมายสันติภาพและสัญลักษณ์ของการประท้วง เสื้อทีเชิ้ตกลายเป็นเวทีแสดงความรู้สึกส่วนตัว หลักปรัชญา โฆษณาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสินค้าต่าง ๆ ก็ตอนช่วงทศวรรษที่ ๗๐ สงครามเวียดนามผลักดันทีเชิ้ตเข้าสู่โลกของตัวอักษรและการแสดงความเห็นโต้แย้ง เด็กหนุ่มสาวสวมทีเชิ้ตพิมพ์ข้อความต่อต้านสงครามเวียดนามให้คนทั่วไปรู้ถึงความรู้สึกของพวกเขา
เราไม่ต้องแบกป้ายประท้วงให้เมื่อยมือ ในเมื่อสามารถเขียนข้อความร้องทุกข์ไว้บนหน้าอกเสื้อได้ ไม่ว่าจะไปฟังการหาเสียงทางการเมือง หรือแค่ไปกินเบอร์เกอร์ก็สวมทีเชิ้ตออกไปได้ ขณะที่อเมริกากำลังเริ่มให้ความสำคัญกับความคิดเห็นมากกว่าความรู้ ทีเชิ้ตดูจะเป็นเวทีวาทะที่เหมาะเจาะ เราไม่ต้องพูดอะไรสักคำทุกคนก็รู้ว่าจุดยืนของเราเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเรื่องสงคราม ความขัดแย้งทางเพศ หรือต่อต้านผู้อยู่ในอำนาจ ไม่นานนักทีเชิ้ตก็ถูกใช้แสดงความคิดเห็นในเรื่องทุกเรื่องที่คิดได้ หรือสื่อคำสารภาพส่วนตัว เช่น “เสรีภาพในการสูบกัญชา” หรือ “ปลดนิกสัน” หรือ “ฉันยังเป็นสาวบริสุทธิ์ (แต่นี่เสื้อตัวเก่านะ)” ประโยคหลังนี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า ไม่มีอะไรที่แน่นอน
ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของทีเชิ้ตที่ได้มาจากทีเชิ้ตคอปิด คือทำให้ไม่ต้องผูกเนกไท บุรุษทั้งหลายต่างสำนึกบุญคุณเสื้อทีเชิ้ตคอปิดกันอยู่ชั่วกาลนาน ผู้หญิงเองก็ได้ใส่เสื้อที่ดูแลรักษาง่ายนี้แทนเสื้อแบบที่เคยใส่ไปด้วย สำนักงานหลายแห่งยินยอมให้พนักงานใส่เสื้อทีเชิ้ตผ้าฝ้ายแบบเรียบ ๆ สีเดียว แล้วใส่เสื้อสูททับมาทำงานได้
นักวิชาการผู้ศึกษาวัฒนธรรมในตอนนี้ต่างก็เสียใจว่าพวกเขาไม่เคยคาดเลยว่า ทีเชิ้ตจะกลายเป็นประดิษฐกรรมของมนุษย์ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด และสำคัญที่สุดของแฟชั่นในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันเทคโนโลยีแฟชั่นในนิวยอร์กก็ยังจัดนิทรรศการทีเชิ้ตเพื่อแสดงให้เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ในปี ค.ศ. ๑๙๙๑ ตามที่มีบันทึกไว้บนทีเชิ้ต ตั้งแต่ปฏิบัติการพายุทะเลทราย ไปจนถึงคดีของ วิลเลียม เคนเนดียิ่งไปกว่านั้น สามแผนกของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อเมริกันแห่งชาติ ได้แก่ แผนกเครื่องแต่งกาย ชีวิตตามชุมชน และประวัติศาสตร์การเมือง ก็สะสมทีเชิ้ตไว้สำหรับแสดงนิทรรศการด้วย
ประดิษฐกรรมใหม่ล่าสุดตอนนี้คือ ทีเชิ้ตที่มีสีแบบใหม่เรียกว่า“ สีนูน” ที่ใช้วิธีบีบเอาจากหลอดโดยตรงออกมาเป็นหยดใหญ่ ทำให้เสื้อทีเชิ้ตของเด็ก ๆ กลายเป็นเสื้อในฝัน เพราะมีลายนูนต่ำ เสื้อทีเชิ้ตที่ไวต่อความร้อนจะเปลี่ยนสีได้เมื่อสวมใส่ลงบนร่างกายก็กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
ไม่มีใครทราบว่า เรื่องราวของเสื้อทีเชิ้ตจะจบสิ้นลงเมื่อใดแต่ที่แน่ ๆ ก็คือ ตราบใดที่คนอเมริกันยังคิดว่าต้องระบายความในใจให้โลกรู้อยู่ละก็ ตราบนั้นเจ้าเสื้อทีเชิ้ตก็คงจะต้องอยู่ต่อไป
ข้อมูลนี้ได้มาจากบทความเรื่อง “ทีเชิ้ต เสื้อยืดยอดฮิตของชาวอเมริกัน” โดย เจ.ดี. รีด ในนิตยสารเสรีภาพ ฉบับที่ ๑/๒๕๓๖
“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น